วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554

pooh2s:story deedee: น้ำใจเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ของป้าหาบ...แม่ค้า 5 บาท

pooh2s:story deedee: น้ำใจเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ของป้าหาบ...แม่ค้า 5 บาท: "เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม ขอขอบคุณภาพประกอบจาก นิตยสาร ค ฅน ยุคสมัยนี้ เดินไปทางไหน หันไปร้านใด ก็มักจะเจอป้ายขอปร..."

น้ำใจเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ของป้าหาบ...แม่ค้า 5 บาท






เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก นิตยสาร ค ฅน 

          ยุคสมัยนี้ เดินไปทางไหน หันไปร้านใด ก็มักจะเจอป้ายขอปรับขึ้นราคาสินค้า และอาหารอยู่จนชินตา โดยเจ้าของร้านมักจะอ้างว่า เพราะของมันแพงขึ้น ต้นทุนสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้า เพื่อให้สามารถประคับประคองร้านให้อยู่ต่อไปได้

          แต่ทว่า ในอีกมุมหนึ่งของสังคม ยังมีแม่ค้าวัยย่างหกสิบปีคนหนึ่ง ประกอบอาชีพหาบเร่ค้าขายกับข้าวมานานกว่า 30 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัยที่ไข่ไก่ยังราคาเพียงฟองละห้าสิบสตางค์ และแม้วันนี้ราคาไข่ไก่จะพุ่งเกือบฟองละ 5 บาท แต่แกก็ยังคงยืดหยัดขายกับข้าวทุกอย่างในราคา 5 บาทเหมือนเมื่อสามสิบปีที่แล้วไม่มีผิดเพี้ยน 

          ในเวลาใกล้บ่ายสองของทุกวัน สายตาหลายคู่ในซอยจรัญสนิทวงศ์ 33 แยก 3 จะเฝ้ามองหาป้าแดง บุญยัง พิมพ์รัตน์ หรือที่ทุกคนเรียกแกว่า "ป้าหาบ" เพื่ออุดหนุนกับข้าวอร่อย ๆ ของแก ที่ทุกวันหาบหน้าของแกจะเต็มไปด้วยมะละกอ ข้าวเหนียว และครก ขณะที่หาบหลังเต็มไปด้วยกับข้าวและขนมหวานใส่ถุงพลาสติกกองสูงเป็นภูเขา

          "ของทุกอย่างป้าแกขาย 5 บาท ที่ขายสิบบาทก็มีอย่างเดียว คือปลาหมึกเท่านั้น แกขายของแกอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไร ไม่เคยขึ้นราคาสักที" ลูกชายเจ้าของบ้านที่ป้าหาบใช้เป็นพื้นที่ขายของพูดถึงป้า

           จุดเริ่มต้นของแม่ค้า 5 บาท ต้องย้อนไปตั้งแต่สมัยปี พ.ศ.2520 ที่ป้าหาบเดินทางจากจังหวัดร้อยเอ็ดเข้ามาอยู่กรุงเทพมหานคร และตัดสินใจจะขายส้มตำครกละ 5 บาท ให้คนงานในซอยซึ่งมีรายได้น้อยได้ทานกันอย่างอิ่มท้อง จนหลายสิบปีผ่านไป แกก็มีเงินเก็บไปปลูกบ้านที่ร้อยเอ็ดได้หนึ่งหลัง ทั้ง ๆ ที่ขายส้มตำในราคาเพียงครกละ 5 บาท และไม่เคยขยับราคาเลยสักครั้ง แม้ข้าวของจะแพงขึ้น แพงขึ้น เกือบเท่าตัว

           "ขายราคานี้เพราะมันขายง่าย คนซื้อก็จ่ายง่าย ทุนฉันแต่ละวันก็พันกว่าบาท ก็พอมีกำไรนิด ๆ หน่อย ๆ ไอ้เรามันไม่มีหนี้สิน ก็อยู่ได้ ไม่ต้องไปโขกเอากำไรกับเขามากเกินไป" ป้าหาบ บอกถึงเหตุผลที่ขายกับข้าวเพียง 5 บาท




            ป้าหาบ หรือ ป้าแดง ยังบอกอีกด้วยว่า ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ลูกค้าหาบของแกมีมากหน้าหลายตา ทั้งขาประจำ  ขาจร โดยเฉพาะช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี พ.ศ.2540 หาบของแกยิ่งขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ซึ่งถ้าตอนนั้นแกปรับขึ้นราคาก็คงมีกำไรอู่ฟู่ไปแล้ว แต่แกไม่เคยคิดจะขึ้นราคาเลยสักที

            "เคยยุให้แกขึ้นราคา แกก็งอนนะ บอกว่าขึ้นแล้วสงสารพวกโรงงาน ป้าแกมองถึงคนล่าง ๆ ที่ซื้อของแกกิน" ลูกค้าประจำ ซึ่งเป็นคุณครูโรงเรียนวัดสุวรรณาราม แอบกระซิบเรื่องของป้าอย่างชื่นชม

            หลายคนสงสัยว่า แกขายกับข้าวในราคาเพียง 5 บาทมาได้อย่างไรตั้งนานกว่า 3 ทศวรรษ แล้วจะมีกำไรหรือ ป้าหาบยิ้มแล้วบอกว่า ตัวแกเองก็จำไม่ได้หรอกว่า ได้กำไรหรือขาดทุนอย่างไร เพราะแกคิดเพียงว่า แม้แกจะขายข้าวในราคา 5 บาท แต่ตัวแกเองไม่ได้เดือดร้อนอะไร อยากทานอะไรก็ได้ทาน ไม่เคยลำบาก และไม่ทำให้เป็นหนี้ใคร เพราะฉะนั้นก็ยังขาย 5 บาทได้อยู่

            นอกจากป้าหาบจะใจดีขายกับข้าวทุกอย่างในราคาถุงละ 5 บาทแล้ว บ่อยครั้งที่จะเห็นแม่ค้าวัยชราคนนี้ หยิบยื่นกับข้าวให้ลูกค้าที่ไม่ค่อยมีเงินได้ทานกันฟรี ๆ แถมยังให้เสียเยอะจนผู้รับเองยังตกใจ

            "นึกถึงตัวเองเวลาไม่มี ท้องหิวมันทรมานมากนะ คนเงินเดือนน้อย ๆ ก็อยากให้เขากินอิ่ม บางคนมีเงินมา 10 บาท มาซื้อกับป้า ป้าก็ให้เขาเยอะ ๆ เป็นข้าวเหนียวเป็นอะไรอย่างนี้ บางคนมาไกล ๆ ไม่มีเงินมา ป้าก็ให้ไปบ้าง หรือไม่ก็คิดเขาแค่ครึ่งเดียว 20 บาท เอา 10 บาทพอ" ป้าหาบ บอก



           
              ความใจดีของป้าหาบ อาจจะเป็นเพราะในสมัยสาว ๆ แกเคยลำบากมาก่อน ทำมาหมดแล้วทุกอย่าง ไม่ว่าจะทำนา ทำไร่ เป็นแม่บ้าน สุดท้ายมาจบที่แม่ค้าขายส้มตำ และเก็บหอมรอมริบเรื่อยมาจนพอมีเงินเก็บ แต่แกก็ยังเข้าใจหัวอกของคนยากไร้เป็นอย่างดี

             "ของอย่างนี้นะหนู คนไม่เคยลำบากมาก่อนไม่มีทางเข้าใจหรอก บางทีแค่ยี่สิบบาท เราเห็นว่าน้อยนิด เขาก็หาไม่ได้นะ หรือบางคนย้ายไปอยู่ที่ไกล ๆ มาซื้อของป้า ป้าก็ยิ่งไม่เอาเงินเขาเลย กลัวเขาจะไม่มีค่ารถกลับบ้าน" ป้าหาบ เล่าด้วยความเข้าใจคนหัวอกเดียวกัน

             เคล็ดลับที่ทำให้ป้าหาบสามารถคงราคา 5 บาทมาได้กว่า 30 ปี ก็ไม่ยากอะไร เพราะป้าหาบแกจะพยายามทำให้ต้นทุนต่ำที่สุด และซื้อวัตถุดิบจากเจ้าประจำทำให้ได้มาในราคาไม่แพงมาก ซึ่งแกก็จะตื่นแต่เช้ามืดมาทำกับข้าวเป็นหม้อ ๆ แล้วหาบของหนัก ๆ ออกมาขายช่วงบ่าย ๆ เป็นประจำเกือบทุกวันอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ป้าหาบยังบอกอีกด้วยว่า แกสนุกกับสิ่งที่แกทำ เพราะได้คุยกับคนมากหน้าหลายตา และหากแกหยุดขายไปหนึ่งวันหรือสองวัน วันรุ่งขึ้นจะมีลูกค้ามาตัดพ้อเลยทีเดียว



           
             "ถ้าเขาไม่มี เราก็ให้เขากินได้ เวลาเราไม่มี ก็คงจะมีคนยื่นมาให้เรากินบ้าง เหมือนว่าเราทำบุญ ยิ่งกว่าใส่บาตรอีกนะ การให้คนเขาได้กิน ใส่บาตรบางทีพระมีของกินเยอะ ๆ พระท่านก็ไม่ฉันอันนั้นอันนี้ แต่คนที่ไม่มีจะกิน ให้เขาไปเขาก็กินหมด และอิ่มด้วย ยิ่งบางคนให้ไป เขาไม่ลืมเลย ไปเจอกันอยู่กลางทาง เขาเห็นป้าแล้วบอกดีใจจังเลย นึกถึงที่ป้าให้ของกิน เขาบอกว่าไม่เคยลืมเรา ขนาด 9 ปี 10 ปี มาเจอกันวันนี้ ยังมีคนมาทักป้าเลย" ป้าหาบ เล่าด้วยความรู้สึกอิ่มเอมใจเป็นอย่างยิ่ง

              ป้าหาบยังบอกด้วยว่า ชีวิตของแกพอมีพอกิน เงินเก็บก็พอมี หนี้สินไม่มี ลูกเต้าก็โตได้งานทำกันหมดแล้ว เพราะฉะนั้น ชีวิตของแกก็ไม่ได้ลำบากอะไร เช่นนั้นแล้ว เมื่อแกพร้อม ก็สามารถทำอะไรอย่างที่แกอยากจะทำได้ด้วยความสบายใจซึ่งสิ่งนั้นก็คือ "การให้" นั่นเอง

              เห็นไหมว่า เพียงแค่ความคิดเล็ก ๆ ของป้าหาบที่เจือจานน้ำใจอันยิ่งใหญ่สู่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน กลับทำให้มุมหนึ่งของสังคมไทยในยุคข้าวยากหมากแพงดูแล้วมีความสุขขึ้นมาถนัดตา


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

นิตยสาร ค ฅน เดือนกรกฎาคม 

วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สรุปสถานการณ์การระบาดของเชื้อ E.Coli ในประเทศเยอรมัน






จากข่าวการระบาดของเชื้อ Enterohaemorrhagic หรือ E.Coli ในประเทศเยอรมัน
พบมีผู้ติดเชื้อกว่า 1500 รายและเสียชีวิตไปแล้ว 17 ราย โดย 1 เสียชีวิตในประเทศสวีเดน
เชื้อ E.Coli ที่เกิดการระบาดในครังนี้เป็นสายพันธุ์ O104 ซึ่งเป็นสายพันธุ์รุนแรงที่ก่อให้เกิด
อาการ haemolytic-uraemic syndrome (HUS) คือ มีอาการ ท้องเสียอย่างรุนแรง ถ่ายเป็นเลือด
และการทำงานของไตล้มเหลว และเป็นสายพันธุ์ที่มีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อมกว่าสายพันธ์อื่นๆ
สามารถพบได้ในดินหรือปุ๋ยที่ปลูกพืชผัก 

โดยปกติ E.Coli เป็นแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไปในลำไส้ของมนุษย์และไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ 
แต่ก็สามารถสร้างพิษทำให้เกิดอาหารท้องเสียได้ ส่วนสาเหตุการระบาดในครั้งนี้สันนิษฐานว่าเกิดจากการ
ปนเปื้อนของ E.Coli ในผักสด และแตงกวาที่นำเข้าจากประเทศสเปน โดยปกติการปนเปื้อน E.Coli 
นั้นพบได้ในอาหารที่ปรุงไม่สุก จำพวกเนื้อสัตว์ ไข่ไก่ และผัก,ผลไม้สด ในระหว่างที่มีการระบาดเกิดขึ้น
ในเยอรมัน นั้นได้ออกประกาศเตือนให้ประชาชนระมัดระวังในการบริโภคผักสด จำพวกแตงกวา 
กระหล่ำ มะเขือเทศ และผักสลัดต่างๆ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่มาจากตอนเหนือของประเทศ และหาก
จะบริโภคผักสด ควรปอกเปลือก และล้างให้สะอาดก่อนบริโภคทุกครั้ง 


สาเหตุการระบาดของ E.Coli ที่ผ่านๆมานั้นเกิดจาก 
1) เนื้อที่ผ่านกระบวนการจำพวก เคบับ, ซาลามี่ และ แฮมเบอร์เกอร์
2) ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น นม เนย ชีส โยเกิร์ต และไอศครีม
3) ผักสลัด โควสลอร์ กะหล่ำ ผักโขม หัวไชเท้า
4) ผลไม้ จำพวก แตงโม องุ่น และน้ำแอปเปิ้ล
5) การระบาดทางน้ำ เช่น น้ำในทะเลสาป, สระว่ายน้ำ

กลุ่มเสี่ยงต่อการรับเชื้อ E.Coli คือผู้สูงอายุและเด็ก หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง แต่จากสถานการณ์
การระบาดในประเทศเยอรมัน พบผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง อาจเนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคผักและผลไม้สด
สำหรับการระบาดในครั้งนี้พบผู้ติดเชื้อ 87% อยู่ในวัยผู้ใหญ่ และ 68% เป็นผู้หญิง 

เคล็ดลับในการป้องกันการติดเชื้อ E.coli
1) ล้างมือทุกครั้งก่อน,ระหว่างและหลัง ปรุงอาหาร และทำความสะอาดอุปกรณ์ในครัว ภาชนะจาน ชาน มีด เขียง และพื้นผิวครัวด้วยน้ำร้อนหรือสบู่ ทุกครั้งหลังการเตรียมเนื้อสัตว์ดิบ หรือใช้กระดาษเช็ดทำความสะอาดและทิ้งทันที 
2) ควรแยกภาชนะ และเขียงที่ใช้สำหรับเนื้อดิบและเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก อย่าใช้ภาชนะเดียวกัน หากจำเป็นควรล้างทำความสะอาดก่อนทุกครั้ง 
3)ใช้เขียงที่แตกต่างกันสำหรับการเตรียมเนื้อสด ผักและผลไม้ เนื่องจากแบคทีเรียสามารถซึมเข้าไปในรอยแตกก็ผิวไม้
4) แยกเนื้อดิบ, สัตว์ปีก, และอาหารทะเลจากอาหารอื่น ๆ ในตู้เย็นของคุณ.
5) ปรุงอาหารให้สุกทุกครั้ง, ไข่, เนื้อสัตว์, สัตว์ปีก, เนื้อหมูและเนื้อ
6) ล้างผัก ผลไม้ ให้สะอาดทุกครั้งก่อนจะนำไปบริโภค 

แหล่งข้อมูล: การตลาดเพื่อสังคมสุขภาวะ Health Social Marketing 
http://www.facebook.com/notes/การตลาดเพื่อสังคมสุขภาวะ-health-social-marketing/สรุปสถานการณ์การระบาดของเชื้อ-ecoli-ในประเทศเยอรมัน/215118251853276

วันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ไทลื้อ

ไทลื้อ หรือ ไตลื้อ เป็นชาวไทกลุ่มหนึ่ง มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแถบสิบสองปันนาของจีน มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือการใช้ภาษาไทลื้อ และยังมีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์อื่นๆ เช่น การแต่งกาย ศิลปะและประเพณีต่างๆ

การอพยพ
เดิมชาวลื้อ หรือไทลื้อ มีถิ่นที่อยู่บริเวณ เมืองลื้อหลวง จีนเรียกว่า "ลือแจง" ต่อมาได้เคลื่อนย้ายลงมาอยู่บริเวณเมืองหนองแส หรือที่เรียกว่าคุนหมิงในปัจจุบัน แล้วย้ายลงมาสู่ลุ่มน้ำน้ำโขง สิบสองปันนาปัจจุบัน ประมาณศตวรษที่ 12 จึงเกิดมีวีรบุรุษชาวไทลื้อชื่อ เจ้าเจื๋องหาญ ได้รวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ ในสิบสองปันนาปัจจุบันตั้งเป็นอาณาจักรแจ่ลื้อ (เซอลี่) โดยได้ตั้งศูนย์อำนาจการปกครองเอาไว้ที่หอคำเชียงรุ่ง นาน 790 ปี ต่อมาถึงสมัยเจ้าอิ่นเมือง ครองราชต่อมาในปี ค.ศ. 1579-1583 (พ.ศ. 2122-2126) ได้แบ่งเขตการปกครองเป็นสิบสองหัวเมือง แต่ละหัวเมืองให้มีที่ทำนา 1,000 หาบข้าว (เชื้อพันธุ์ข้าว) ต่อมาหนึ่งที่/หนึ่งหัวเมือง จึงเป็นที่มาจนถึงปัจจุบันเมืองสิบสองปันนาได้แบ่งเขตการปกครองเอาไว้ในอดีตดังนี้ (ที่มาของคำว่า สิบสองปันนา หรือ สิบสองเจ้าไต)

ชาวไทลื้ออาศัยอยู่สองฝั่งแม่น้ำโขง คือ ด้านตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำ มีเมืองต่างๆ ดังนี้ภาษาไทลื้อ ได้กล่าวไว้ว่า ห้าเมิงตะวันตก หกเมิงตะวันออก รวมเจียงฮุ่ง (เชียงรุ้ง) เป็น 12 ปันนา และทั้ง 12 ปันนานั้น ยังมีเมืองน้อยอีก 32 หัวเมือง เช่น

ฝั่งตะวันตก : เชียงรุ้ง, เมืองฮำ, เมืองแช่, เมืองลู, เมืองออง, เมืองลวง, เมืองหุน, เมืองพาน, เมืองเชียงเจิง, เมืองฮาย, เมืองเชียงลอ และเมืองมาง
ฝั่งตะวันออก : เมืองล้า, เมืองบาง, เมืองฮิง, เมืองปาง, เมืองลา, เมืองวัง, เมืองพง, เมืองหย่วน, เมืองบาง และเมืองเชียงทอง (หลวงพระบาง)
การขนายตัวของชาวไทยลื้อสมัยรัชกาลที่ 24 เจ้าอินเมืองได้เข้าตีเมืองแถน เชียงตุง เชียงแสน และล้านช้าง กอบกู้บ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่น พร้อมทั้งตั้งหัวเมืองไทลื้อเป็นสิบสองเขต เรียกว่า สิบสองปันนา และในยุคนี้ได้มีการอพยพชาวไทลื้อบางส่วนเพื่อไปตั้งบ้านเรือนปกครองหัวเมืองประเทศราชเหล่านั้น จึงทำให้เกิดการกระจายตัวของชาวไทลื้อ ในลุ่มน้ำโขงตอนกลาง (รัฐฉานปัจจุบัน) อันประกอบด้วยเมืองยู้ เมืองยอง เมืองหลวย เมืองเชียงแขง เมืองเชียงลาบ เมืองเลน เมืองพะยาก เมืองไฮ เมืองโก และเมืองเชียงทอง (ล้านช้าง) เมืองแถน(เดียนเบียนฟู)




ชาวไทลื้อบางส่วนได้อพยพ หรือ ถูกกวาดต้อน ออกจากเมืองเหล่านี้เมื่อประมาณหนึ่งร้อยถึงสองร้อยปีที่ผ่านมา แล้วลงมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศตอนล่าง เช่น พม่า, ลาว และไทย

ในสมัยรัชกาลที่ 1 เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ (เจ้าผู้ครองนครน่าน) และเจ้าสุมนเทวราช (เจ้าผู้ครองนครน่าน) ยกกองทัพขึ้นไปกวาดต้อนชาวไทลื้อจากสิบสองปันนามายังเมืองน่าน และเมืองบางส่วนในประเทศลาว และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าสุริยะพงษ์ (เจ้าผู้ครองนครน่าน) ก็ได้ยกกองทัพขึ้นไปกวาดต้อนชาวไทลื้อจากสิบสองปันนามายังเมืองน่าน [6]




[แก้] ไทยอง
ในราวพุทธศตวรรษที่ 19 เจ้าสุนันทะ โอรสเจ้าเมืองเชียงรุ้ง ได้พาบริวารชาวไทลื้อจากเมืองเชียงรุ้ง เข้ามาปกครองเมืองยองเหนือคนพื้นเมือง ซึ่งเป็นชาวลัวะ โดยมีทั้งปัจจัยสนับสนุน ได้แก่

การผสมผสานระบบความเชื่อและพิธีกรรม และ พระพุทธศาสนาที่เข้ามาในภายหลัง
ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ และระบบบรรณาการกับเมืองเชียงรุ้ง เชียงตุงและการสร้างพันธมิตรทางการเมืองกับกลุ่มเมืองในที่ราบเชียงราย บนฝั่งแม่น้ำโขงตอนกลาง เช่น เชียงแสน เชียงของ เป็นต้น
ดังนั้น ชาวไทยอง กับ ชาวไทลื้อก็คือ ญาติกันนั่นเอง

[แก้] ไทลื้อปัจจุบัน
ปัจจุบันชาวไทลื้อกระจายตัวอยู่ที่

ประเทศพม่า มีแถบเมืองยอง เมืองยู้ เมืองหลวย เมืองเชียงลาบ เมืองไร เมืองพะยาก เมืองโก เมืองโต๋น เมืองเลน เชียงตุง
ประเทศลาว เมืองหลวงน้ำทา เมืองหลวงพูคา เมืองบ่อแก้ว ไชยะบุลี (เชียงฮ่อนเชียง เชียงลม หงสา) เมืองหลวงพะบาง
ประเทศไทย เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำปาง แพร่ น่าน
ประเทศเวียดนาม เมืองแถน



สำหรับในประเทศไทย มีชาวไทลื้อในหลายจังหวัดทางภาคเหนือตอนบน ดังนี้

เชียงราย : อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงของ อำเภอเชียงแสน(ส่วนหนึ่งได้อพยพไปเมืองเชียงรุ้ง เมื่อเกิดสงครามไทยพม่า)
เชียงใหม่ : อำเภอสะเมิง อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอสันกำแพง กิ่งอำเภอแม่ออน
น่าน :
อำเภอเมืองน่าน (ต.ในเวียง บ้านเชียงแขง บ้านเมืองเล็น)

อำเภอท่าวังผา มีชาวไทลื้ออยู่ 5 ตำบล คือ ต.ศรีภูมิ บ้านห้วยเดื่อ ต.ป่าคา เป็นชาวไทลื้อที่มาจากเมืองล้า มี 5 ประกอบด้วยหมู่บ้าน บ้านหนองบัว บ้านดอนแก้ว บ้านต้นฮ่าง บ้านดอนมูล บ้านแฮะ ,ตำบลยม มีชาวไทลื้อ 5 หมู่บ้านเป็นชาวไทลื้อที่มาจากเมืองเชียงลาบ และเมืองยอง ประกอบด้วย บ้านลอมกลาง บ้านทุ่งฆ้อง บ้านเชียงยืน บ้านเสี้ยว บ้านหนองช้างแดง ,ต.จอมพระ เป็นชาวไทลื้อที่อพยพมาจากเมืองยองและเมืองยู้มีชาวไทลื้อ 5 หมู่บ้าน บ้านถ่อน และถ่อนสอง บ้านยู้ บ้านยู้เหนือ บ้านยู้ใต้

อำเภอปัว เป็นอำเภอที่มีชาวไทลื้ออยู่มากที่สุด ประกอบด้วย ต.ศิลาเพชรเป็นชาวไทลื้อที่อพยพมาจากเมืองยอง มี 7 หมู่บ้าน บ้านป่าตอง3หมู่บ้าน บ้านดอนไชย บ้านนาคำ บ้านดอนแก้ว ,ตำบลศิลาแลง เป็นชาวไทลื้อที่อพยพมาจากเมืองยอง บ้านเก็ด บ้านหัวน้ำ บ้านตีนตก เป็นต้น ต.วรนคร บ้านดอนแก้ว บ้านร้องแง บ้านมอน บ้านขอน บ้านป่าลานเป็นต้น ตำบลสถาน เป็นชาวไทลื้ออพยพมาจากเมืองเชียงลาบ มี 3 หมู่บ้าน นอกนั้นในยังมีอีกไม่ต่ำกว่า 20 หมู่บ้านในอำเภอปัวที่เป็นชาวไทลื้อ

อำเภอเชียงกลาง

อำเภอทุ่งช้าง บ้านงอบ บ้านปอน ห้วยโก๋น และส่วนที่อพยพเข้ามาใหม่ ซึ่งจะอยู่ปะปนกะชาวเมืองน่านแถบชายแดน (มีจำนวนมากที่สุด อพยพมาจาก แขวงไชยะบุรี และ สิบสองปันนา)

พะเยา : อำเภอเชียงม่วน อำเภอเชียงคำ (มีจำนวนมาก) อำเภอภูซาง
ลำปาง : อำเภอเมือง อำเภอแม่ทะ
ลำพูน : อำเภอเมือง อำเภอบ้านธิ
ส่วนในต่างประเทศนั้น มีการกระจายตัวกันเกือบทุกประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เช่นในรัฐฉาน ประเทศพม่า ประเทศลาว ประเทศเวียดนาม(เมืองแถน และ เมืองเดียนเบียนฟู ก็มีการบันทึกไว้ว่ามีชาวไทลื้อ อยู่ที่นั่นด้วย)

[แก้] วัฒนธรรม
ชาวไทลื้อมีชีวิตที่คล้ายคลึงกับชาวไทยหรือชนเผ่าอื่นๆทางภูมิภาค คือมีการสร้างบ้านเรือนเป็นบ้านไม้ มีใต้ถุนสูง มีครัวไฟบนบ้าน ใต้ถุนเลี้ยงสัตว์ แต่ในปัจจุบันวิถีชีวิตได้เปลี่ยนไป การสร้างบ้านเรือนก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย บ้านที่ยังคงสภาพเป็นเรือนไม้แบบเดิมยังพอจะมีให้เห็นบ้างในบางชุมชน เช่น บ้านหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา

ชาวไทลื้อส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัด นิยมสร้างวัดในชุมชนต่างๆ แทบทุกชุมชนของชาวไทลื้อ ทั้งยังตกแต่งด้วยศิลปะและสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์งดงาม มีการบูรณะ ซ่อมแซม ให้คงสภาพดีอยู่เสมอแม้ในปัจจุบัน

ศิลปะที่โดดเด่นของชาวไทลื้อได้แก่งานผ้าทอไทลื้อ นิยมใช้ผ้าฝ้าย ทอลวดลายที่เรียกว่า ลายน้ำไหล ปัจจุบันมีการฟื้นฟูและถ่ายทอดศิลปะการทอผ้าแบบไทลื้อในหลายชุมชนของภาคเหนือ

ผู้ชายไทลื้อส่วนใหญ่จะนิยมสวมเสื้อขาวแขนยาว สวมทับด้วยเสื้อกั๊กปักลวดลายด้วยเลื่อม สวมกางเกงม่อฮ่อมขายาวโพกหัวด้วยผ้าสีขาวหรือชมพู ส่วนหญิงไทลื้อนิยมสวมเสื้อปั๊ด (เป็นเสื้อที่ไม่มีกระดุมแต่จะสะพายเฉียงมาผูกไว้ที่เอวด้านข้าง) นุ่งซิ่นลื้อ สะพายกระเป๋าย่ามและนิยมโพกศีรษะด้วยผ้าขาวหรือชมพู[7]

เรื่องของชาวไทลื้อ ซึ่งบรรพบุรุษได้อพยพมาจากเมืองยอง เมืองยู้ เมืองเชียงลาบ (เมืองทั้งหมดนี้อยู่ในรัฐฉาน ประเทศพม่า) และชาวไทยอง (คนเมือง คนที่มีถิ่นฐานดั่งเดิมอยู่ในเขตจังหวัดล้านนา) นั้น มีความเกี่ยวข้องกันมาก ดังนั้นจึงอาจจะไม่สามารถแบ่งแยกกันได้

สมเด็จพระเจ้าหอคำเชียงรุ่ง 1 (พญาเจื๋อง) เป็นปฐมกษัตริย์ของชาวไทลื้อ แห่งราชวงค์อาฬโวสวนตาล จนถึงสมเด็จพระเจ้าหอคำเชียงรุ่งที่ 41 เจ้าหม่อมคำลือ (ตาวซินซือ) ก่อสิ้นสุดลงเพราะรัฐบาลจีนได้ถอดท่านถอนท่านออกจากการเป็นเจ้าฯ ส่วนพระอนุชาได้ลี้ภัย มาอยู่ที่อำเภอแม่สาย หม่อมตาลคำ ได้ลี้ภัยมาอยู่กรุงเทพ



ประชากรไทลื้อ

ไทลื้อ (ไตลื้อ)
จำนวนประชากรทั้งหมด
ประมาณ 1.5 - 2 ล้านคน

ดินแดนที่ให้การรับรองชาติพันธุ์
สาธารณรัฐประชาชนจีน 1,158,989[1]
ประเทศพม่า 200,000[2]
ประเทศลาว 134,000[3]
ประเทศไทย 83,000[4]
ประเทศเวียดนาม 4,960[5]

ภาษา
ภาษาจีน, ภาษาลื้อ, ภาษาไทเหนือ, ภาษาไทดำ, ภาษาลาว, ภาษาไทย, ภาษาพม่า
ศาสนา
พระพุทธศาสนานิกายเถรวาท


อ้างอิง
^ http://www.china.org.cn/english/features/EthnicGroups/136902.htm
^ http://www.ethnologue.com/show_language.asp?code=khb
^ http://www.ethnologue.com/show_language.asp?code=khb
^ http://www.ethnologue.com/show_language.asp?code=khb
^ http://www.ethnologue.com/show_language.asp?code=khb
^ http://www.painaima.com/topic.php?mcat_id=5&scat_id=1&topic_id=662
^ http://www.lannacorner.net/weblanna/article/article.php?type=A&ID=482



ทำไมผมจึงนำเสนอเรื่องนี้ เพราะว่าตัวผมเองเป็นคนไทลื้อ 100% นั่นเอง ฮะๆ

วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2553

เรื่องดีดี:"เภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม"คนแรกของประเทศไทย

เภสัชกรจากอุบล คนนี้ทำตัวเงียบๆ มาตลอด หากแต่ละงานที่เขาหยิบจับนั้นล้วน "โหญ่โต" ระดับชาติ ประเทศเรายังขาดคนทำมากกว่าพูดแบบนี้อีกเยอะ
ต้อง รอจนคุยเสร็จ ผู้ชายธรรมดาๆ ดูภายนอกไม่มีอะไรหวือหวาคนนี้ ถึงจะควักนามบัตรมาให้ แถมถ่อมตัวด้วยว่า "เป็นของถูกๆ ง่ายๆ ทำเองน่ะครับ" ตบท้ายรายการด้วยรอยยิ้มน้อยๆ
กระดาษแผ่นบางๆ พิมพ์ชื่อ-นามสกุล ตำแหน่งแห่งที่ด้วยพริ๊นเตอร์ คือ อุปกรณ์แนะนำตัวง่ายๆ ของ เภสัชกร วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร วัย 52
กว่า 2 ชั่วโมงที่สนทนากับเภสัชกรใจดี นามบัตรใบเดียวเป็นเพียงของนอกกาย เพราะสิ่งต่างๆ ที่เขาทำไว้ มีมากมายชนิดสามวันสี่วันก็เล่าไม่จบ

แต่เราจะเล่าเรื่อง "เภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม" คนแรกของประเทศไทยคนนี้ ให้จบภายในหน้าเดียว

รื้อความหมาย "(แค่)คนขายยา"
มูลนิธิเภสัชศาสตร์ เพื่อสังคมเพิ่งมอบรางวัลให้กับ ภก.วรวิทย์ อย่างเงียบๆ ไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เพราะตลอดอายุงาน 28 ปีนักปรุงยาคนนี้ทำเรื่องใหญ่ไปแบบเงียบๆ เยอะ

เช่น บุกเบิกและส่งเสริมการใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจร , รณรงค์ใช้หม้อก๋วยเตี๋ยวปลอดภัย (ไร้สารตะกั่ว) และอยู่เบื้องหลังการเปิดโปงกรณีทุจริตยา 1,400 ล้าน จนคนใหญ่ที่สุดในกระทรวงต้องระเห็จเข้าไปนอนในซังเต (แม้จะพ้นคุกออกมาแล้วก็ตาม)

ยังไม่รวมเรื่องปากท้องของชาวบ้าน อย่างการทำ น้ำปลา ปลาส้ม หรือหน้อไม้ปีบให้ปลอดภัย สำหรับเด็ก โปรเจคท์ตู้น้ำดื่มสะอาดและนมโรงเรียนปลอดภัย สุภาพบุรุษผมสีดอกเลาคนนี้ก็ยุยงส่งเสริมมาตั้งแต่ต้น

แต่ส่วนใหญ่พอโครงการเริ่ม "ติดลม" ก็มักจะถูกคนอื่นเด็ดยอดไปสร้างผลงานต่อเสมอ

ถามว่าเขารู้สึกอย่างไร เจ้าตัวยิ้มๆ บอกด้วยว่า "ดีเสียอีก มีคนสนใจกันเยอะๆ"

เริ่มต้นวิชาชีพที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จากวันนั้นเรื่อยมาเกือบ 30 ปี ความก้าวหน้ามาหยุดนิ่งอยู่ที่ จ.อุบลราชธานี ในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 มา 16 ปีแล้ว
ภาษาชาวบ้านต้องบอกว่า ถูกแช่แข็งหรือไม่ก็เตะตัดขา ทั้งๆ ที่เพื่อนฝูงรุดหน้าไปหลายช่วงตัวแล้ว

"ราชการอาจจะบอกว่าดักดาน แต่ผมไม่อยากย้าย จริงๆ โดนย้ายไป 8 รอบแล้ว อยู่ที่นี่ มีอะไรให้ทำอีกเยอะแยะ ใครจะพูดยังไงเราไม่สนใจ เพราะสิ่งที่ทำมันดี ดีกว่าการไม่ทำ"

เดิมที่ นายวรวิทย์ในชุดเด็กมัธยมปลาย ใฝ่ฝันอยากจะเป็นวิศวกร แต่พ่อของเขากลับทำให้เปลี่ยนใจ อยากให้ลูกชายทำงานอะไรก็ได้ที่ "ให้" สังคม

ลูกชายพ่อค้าขายส่งจากโคราช จำคำพ่อมาเล่าต่อว่า จะทำงานอะไรก็ได้ แต่ห้ามไปข้องแวะกับการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ขายเหล้า ค้าบุหรี่ และอาบอบนวด ประกอบกับคนจีนถือเรื่องสุขภาพเป็นสำคัญ ลูกชายกลับมานั่งทบทวนก็หาข้อเสียหายไม่เจอ เลยลงเอยในอาชีพเภสัชกรในที่สุด

แต่นักศึกษาน้องใหม่ก็เพิ่งจะมาเข้าใจและเริ่มชอบอาชีพคนปรุงยาจริงๆ ก็เมื่อวันปฐมนิเทศ โดยได้คณบดีในตอนนั้น อาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร เป็นคนจุดไฟ

"ถ้าไม่มียา แต่ไม่มีหมอก็ไม่รู้จะรักษายังไง แล้วบางอาการถ้ามียา อาจไม่ต้องถึงคุณหมอก็ได้ ท่านย้ำอีกว่า เภสัชกรไทยต้องรู้เรื่องยาและทำเป็น คนบ้านนอกจะได้พึ่งตัวเองได้"

ประโยคไม่ยาวไม่สั้นแค่นั้นก็มากพอที่จะทำให้ วรวิทย์ตั้งใจไว้ตั้งแต่ปี 1 เลยว่า จบออกมาจะไปอยู่ต่างจังหวัดกับแฟนสาวร่วมคณะ ซึ่งก็คือภรรยาคนปัจจุบัน

เรื่องราวของเภสัชกรหนุ่ม(บ้านนอก)เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน เริ่มต้นครั้งแรกที่ จ.สุรินทร์ ในตำแหน่งเภสัชกรประจำสาธารณสุขคนเดียวของจังหวัด ต่างจากเพื่อนๆ ส่วนใหญ่ที่ไปรับจ้างโรงพยาบาลเอกชน หรือ บริษัทยาต่างๆ
นั่นจึงอาจเป็นที่มาของความหมายเภสัชกรแคบๆ แค่ จ่ายกับขายยา
หากจริงๆ แล้วขอบเขตของวิชาชีพนี้มีมากกว่านั้น อย่างน้อยๆ ก็ปรุงยา พัฒนาสูตร ดูแลการกิน-ซื้อ และความรู้เรื่องยาของประชาชน แล้วก็เอาตัวไปยุ่งกับเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่ยาด้วย
อย่างที่ ภก.วรวิทย์ทำนั่นเอง

บุ๋นเพื่อชาวบ้าน
ไปอยู่แรกๆ เภสัชกรหนุ่มเคยพลั้งพลาดจนเกือบโดนบาทา

"เกือบโดนกระทืบเลยครับ ตอนนั้นไปตรวจสถานที่ ไม่รู้ว่าเจ้าของเป็นโรคประสาท เราไปถึงเขาก็อาละวาด เตะประตู จะเข้ามาทำร้าย โชคดีที่เจ้าหน้าที่มาช่วยทัน ตรงนั้นมันเลยสอนให้เรารู้ว่าจะทำอะไร ต้องเข้าใจแบกกราวน์เสียก่อน" เสียฟอร์มระยะแรกๆ ของ เภสัชกรหนุ่ม
แต่ที่ยากที่สุดคือการทำงานกับคนในผ้าเหลือง และความศรัทธาของชาวบ้าน
"ที่วัดจัดสวดภาณยักษ์ มีการเอายาสมุนไพร ยาอื่นๆ มาขายอิเหละเขะขะ เราไปดูก็รู้ว่าไม่ใช่ยาปลอดภัย แต่ไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร วัดก็มีชื่อเสียง มีลูกศิษย์ลูกหาเยอะ เลยเข้าไปคุยกับผู้ว่าฯ อธิบายเรื่องยาว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ไม่อย่างนั้นท่านจะเดือดร้อน" แล้วเรื่องก็เรียบร้อยด้วยเทคนิคนิดๆ หน่อยๆของคนเจ้าความคิด

หากจุดเปลี่ยนและเข็มทิศการทำงานจริงๆ ของ ภก.วรวิทย์ คือ อาเจ็กร้านขายยาคนหนึ่ง

"ตอนไปตรวจร้าน เขาก็คุยไปเรื่อยๆ ว่า คนเราไม่ต้องกินยาทุกวันเนอะ จะกินก็เพราะป่วย แต่อาหารเนี่ย คนหนึ่งกินสามมื้อ กินทุกวัน ถ้ากินของไม่ดีก็ป่วย แต่ยากินตอนป่วย คนดีๆ เขาไม่กินกัน" เพียงเท่านั้น คนฟังก็ฉุกคิดและหันมาสนใจเรื่องอาหาร ไม่จำกัดแค่เรื่องหยูกยาอีกต่อไป

พร้อมๆ กันกับความก้าวหน้าในอาชีพที่สูงขึ้นตามลำดับ จากหัวหน้างานเภสัชสาธารณสุข หัวหน้าฝ่ายเภสัชสาธารณสุข จนมาถึงปัจจุบัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 อุบลราชธานี

ระหว่างนี้ก็มีงานปิดทองหลังพระไปหลายอย่าง

"ฟ้าทะลายโจร" ภก.วรวิทย์ได้แนวคิดนี้มาจาก ผศ.ภญ.สำลี ใจดี ที่บอกว่า อย่าไปหลงกระแสเอาสมุนไพรมาทำเครื่องสำอางค์ เครื่องสำอางค์ช่วยอะไรไม่ได้ในภาวะสงคราม แต่ถ้าทำยาจะทำให้ประเทศพึ่งตนเองได้

"เราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ แต่รู้ว่ามันเป็นยา และมีอยู่ในชุมชน เลยไปเชิญ อ.ทวีผล เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา ที่เก่งด้านสมุนไพร มาผลิตเป็นยาขึ้นมาได้ แล้วก็เอาไปกระจายต่อยังชุมชนและสถานพยาบาลต่างๆ " เขาย้ำหลักการอีกว่า "ที่สำคัญ ยาต้องไม่สร้างภาระเพิ่มให้แก่รพ. แต่ต้องช่วยประหยัดและเพิ่มประสิทธิภาพ"
ในหมวดเดียวกัน ยังมีชุมเห็ดเทศ , มะขามแขก ที่ได้เภสัชกรคนเดียวกันผลักดันให้รู้จักกันมากขึ้น

ผลงานเด่นๆ ลำดับต่อมาคือ จัดการน้ำดื่มปนสารตะกั่วตามโรงเรียน หม้อก๋วยเตี๋ยวที่ใช้ตะกั่วบัดกรี และ อันตรายของน้ำมันทอดซ้ำ ฯลฯ

"เริ่มต้นที่โรงเรียนบ้านดอนแดง จ.ร้อยเอ็ด ที่พบน้ำดื่มปนสารตะกั่ว เราก็ไปสำรวจตั้งแต่ต้นทางอย่างการประปาเลยนะ ก็ไม่มี ไปดูท่อส่ง ก็ไม่มีอีก แล้วก็ไปแกะตู้น้ำเย็นดู น้ำในนั้นก็ไม่มี แต่ปัญหามันอยู่ตรงก๊อก สืบสาวดูไปถึงช่างที่ซ่อม ก็พบว่าเขาใช้ตะกั่วบัดกรี" คำสั่งห้ามครอบคลุมไปทั่วประเทศ จึงออกตามมา รวมถึงหม้อก๋วยเตี๋ยวด้วย

หรือน้ำมันทอดซ้ำที่รู้กันเต็มอกว่าไม่ควรกิน ไม่ควรใช้ แต่ไม่เห็นมีใครลุกขึ้นมาเป็นตัวตั้งตัวตีสักที

ก็ได้เภสัชกรคนนี้อีกที่เดินเรื่อง...แบบละมุ่นละม่อม

"เราไม่ได้ไปสุ่มสี่สุ่มห้าขอแม่ค้าตรวจดื้อๆ แต่ใช้วิธีไปตรวจทุกสุดสัปดาห์หาค่าที่เป็นอันตราย ตรวจซ้ำหลายครั้งจนมั่นใจว่า น้ำมันซ้ำถ้าใช้ไม่ข้ามอาทิตย์จะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เราก็ค่อยๆ ไปบอกพ่อค้าแม่ค้าว่า ขอให้เปลี่ยนน้ำมันทุกอาทิตย์นะ เพื่อความปลอดภัย ก็ไม่มีปัญหา"

บู๊เพื่อบ้านเมือง
ทั้งหมดนั้นคืองานบุ๋น แต่งานบู๊ สุภาพบุรุษใจดีก็เลือดสาดไม่แพ้ใคร


"ตอนนั้น นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธานกรรมการสอบสวนกรณีทุจริตยา 1,400 ล้าน ท่านก็ตั้งผมเป็นกรรมการด้วย ต้องเท้าความให้ฟังก่อนว่า ด้วยความที่อยู่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไม่ได้ไปยุ่งเรื่องซื้อยา มีเพื่อนฝูงลูกน้องอยู่สาธารณสุขจังหวัดเยอะ เขาก็ชอบมาบ่นระบาย ว่าเขาอึดอัด เรื่องรายการสั่งยาแพงผิดปกติ ไม่อยากทำเลยแต่จะทำยังไงดี ผมฟังบ่อยมากและคิดว่ามันไม่ปกติ และพอรู้กระบวนการอยู่...

ปกติเวลาซื้อยาผ่านองค์การเภสัชกรรม ก็เหมือนซื้อผ่านรัฐวิสาหกิจ จะไม่ถูกเพ่งเล็ง แล้วสั่งได้เยอะ เป็นล้านๆ ก็ได้ พอเราได้ข้อมูลนี้เราก็ส่งให้คุณหมอวิชัย เลยต้องมีการตรวจสอบองค์การเภสัชกรรม"

ด้วยความที่อายุน้อยที่สุด ภก.วรวิทย์จึงต้องรับหน้าที่ธุรการ คอยตรวจสอบใบสั่งซื้อยากว่า 70,000 ใบ ทำด้วยมือไม่ไหวจนต้องเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาช่วยประมวลผล

"ตัวซอฟแวร์มันทำให้เราเห็นภาพว่า ยาตัวเดียวกันบริษัทเดียวกัน ทำไมราคาต่างกัน คนซื้อน้อยกับคนซื้อถูก คนซื้อมากกับคนซื้อแพง แล้วเป็นใบสั่งที่จังหวัดนี้มี จังหวัดนี้ก็มี จึงจับภาพได้ว่ามีจังหวัดไหนบ้างที่ทำ แล้วมันก็ขึ้นมาเลย 7-8 บริษัท บางบริษัทก็เพิ่งเปิดใหม่ พูดง่ายๆ ว่ายิ่งสาวยิ่งเจอ"

ขั้นตอนทั้งหมดนี้ใช้เวลาเพียง 5 เดือน ซึ่งก็มากพอที่จะบั่นทอนฝ่ายธุรการที่ทำงานหามรุ่งหามค่ำ เครียดถึงขนาดเลือดออกในกระเพาะ เพราะกลางวันคือเวลาของงานประจำ ส่วนกลางคืนต้องสวมบทบาทหน่วยปราบปรามทุจริต

นอกจากความภูมิใจ อีกผลพลอยได้จากการเปิดโปงครั้งนั้น คือ "ความเกลียด"

"โหย คนเกลียดเยอะ เกลียดไปทั้งเมืองเลย" เจ้าตัวยิ้มๆ "ทั้งข้าราชการ หมอ เภสัช คือเราไปขัดขา ขัดผลประโยชน์เขาไง"

ยกตัวอย่างง่ายๆ หลักสูตรผู้บริหารอันดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขที่ เภสัชกรคนนี้ถูกเขี่ยชื่อออกไป 2 ปีซ้อนด้วยกำลังภายในบางอย่าง

แต่เขาก็มีวิธีจัดการ...แบบนิ่มๆ

"บอกเขาเลยว่า ถ้าปีนี้เอาออกอีกเจอกันที่ศาลปกครองนะ เลยได้เรียน"

ตำแหน่งที่ควรจะทะยานไปมากกว่า ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ สาขาภูธร และน่าจะได้เข้าไปนั่งทำงานระดับนโยบายในส่วนกลางไปตั้งนาน แต่กลับอยู่กับที่มามากกว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งเขาก็ไม่ยี่หระ

"พอเรามาอยู่ในวงผู้บริหารเราก็ได้เห็น บางคนต้องเดินตามนักการเมืองเพื่อจะไต่เต้า เราไม่ชอบ" เราจึงได้เห็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นถูกสุขอนามัย อย่างน้ำปลาชุมชนพอเพียง ปลาส้มปลอดภัย หรือหน่อไม้ปีบปลอดเชื้อ และเชื่อว่านวัตกรรมชาวบ้านๆ จะยังไม่หยุดอยู่แค่นี้

................................................

ตั้งแต่ทำงานใหม่ๆ เภสัชกรบู๊บุ๋นคนนี้จะมีสมุดบันทึกติดตัวเสมอ คอยจดความฝัน ณ ช่วงนั้นๆ ว่าอยากทำอะไรบ้าง

"เด็กๆ ก็อยากให้ยาของเภสัชขายได้ รู้จักกันในวงกว้าง พอมาอยู่สาธารณสุขจังหวัด ก็อยากทำโครงการโน่นนี่ ถึงวันนี้แก่แล้วก็ยิ่งต้องเขียน เวลาเราไปไหน อยากทำอะไร ก็จด หรือนึกอะไรขึ้นมาได้ ก็เขียนๆ ไป อันไหนยังไม่แน่ใจก็ใช้ดินสอก่อน จะได้ลบได้(ยิ้ม) พอแน่ใจนั่นล่ะ ถึงค่อยลงปากกา"

จนถึงตอนนี้ สมุดบันทึกเล่มแรกถูกเก็บเข้าตู้ไปเรียบร้อยแล้ว ร่วมกับรุ่นน้องอีกกว่า 20 เล่ม ทุกเล่มได้รับการรักษาเป็นอย่างดี เผื่อไว้ไหนผู้เขียนอยากย้อนกลับไปดูเรื่องที่อยากจะทำแต่ยังไม่ได้ทำ ก็จะได้นำกลับมาจัดการให้ลุล่วง
"บางทีย้อนกลับไปอ่านก็ขำๆ เออ คิดได้ยังไง แต่เราก็รู้สึกว่า เออก็ดีนะ ที่เราได้ทำอะไรที่อยากทำ" เจ้าตัวบอกว่าเกือบทั้งหมด ทำสำเร็จไปแล้ว ด้วยอายุ สถานะที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

กับเจ้าของตำแหน่งเภสัชกรเพื่อสังคมคนแรกของเมืองไทย เจ้าตัวรีบโบกมือแล้วบอกว่า

http://www.bangkokbiznews.com/home/

ทักทาย แนะนำ ติชม แสดงความคิดเห็น