วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2553

เรื่องดีดี:"เภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม"คนแรกของประเทศไทย

เภสัชกรจากอุบล คนนี้ทำตัวเงียบๆ มาตลอด หากแต่ละงานที่เขาหยิบจับนั้นล้วน "โหญ่โต" ระดับชาติ ประเทศเรายังขาดคนทำมากกว่าพูดแบบนี้อีกเยอะ
ต้อง รอจนคุยเสร็จ ผู้ชายธรรมดาๆ ดูภายนอกไม่มีอะไรหวือหวาคนนี้ ถึงจะควักนามบัตรมาให้ แถมถ่อมตัวด้วยว่า "เป็นของถูกๆ ง่ายๆ ทำเองน่ะครับ" ตบท้ายรายการด้วยรอยยิ้มน้อยๆ
กระดาษแผ่นบางๆ พิมพ์ชื่อ-นามสกุล ตำแหน่งแห่งที่ด้วยพริ๊นเตอร์ คือ อุปกรณ์แนะนำตัวง่ายๆ ของ เภสัชกร วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร วัย 52
กว่า 2 ชั่วโมงที่สนทนากับเภสัชกรใจดี นามบัตรใบเดียวเป็นเพียงของนอกกาย เพราะสิ่งต่างๆ ที่เขาทำไว้ มีมากมายชนิดสามวันสี่วันก็เล่าไม่จบ

แต่เราจะเล่าเรื่อง "เภสัชกรดีเด่นเพื่อสังคม" คนแรกของประเทศไทยคนนี้ ให้จบภายในหน้าเดียว

รื้อความหมาย "(แค่)คนขายยา"
มูลนิธิเภสัชศาสตร์ เพื่อสังคมเพิ่งมอบรางวัลให้กับ ภก.วรวิทย์ อย่างเงียบๆ ไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เพราะตลอดอายุงาน 28 ปีนักปรุงยาคนนี้ทำเรื่องใหญ่ไปแบบเงียบๆ เยอะ

เช่น บุกเบิกและส่งเสริมการใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจร , รณรงค์ใช้หม้อก๋วยเตี๋ยวปลอดภัย (ไร้สารตะกั่ว) และอยู่เบื้องหลังการเปิดโปงกรณีทุจริตยา 1,400 ล้าน จนคนใหญ่ที่สุดในกระทรวงต้องระเห็จเข้าไปนอนในซังเต (แม้จะพ้นคุกออกมาแล้วก็ตาม)

ยังไม่รวมเรื่องปากท้องของชาวบ้าน อย่างการทำ น้ำปลา ปลาส้ม หรือหน้อไม้ปีบให้ปลอดภัย สำหรับเด็ก โปรเจคท์ตู้น้ำดื่มสะอาดและนมโรงเรียนปลอดภัย สุภาพบุรุษผมสีดอกเลาคนนี้ก็ยุยงส่งเสริมมาตั้งแต่ต้น

แต่ส่วนใหญ่พอโครงการเริ่ม "ติดลม" ก็มักจะถูกคนอื่นเด็ดยอดไปสร้างผลงานต่อเสมอ

ถามว่าเขารู้สึกอย่างไร เจ้าตัวยิ้มๆ บอกด้วยว่า "ดีเสียอีก มีคนสนใจกันเยอะๆ"

เริ่มต้นวิชาชีพที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จากวันนั้นเรื่อยมาเกือบ 30 ปี ความก้าวหน้ามาหยุดนิ่งอยู่ที่ จ.อุบลราชธานี ในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 มา 16 ปีแล้ว
ภาษาชาวบ้านต้องบอกว่า ถูกแช่แข็งหรือไม่ก็เตะตัดขา ทั้งๆ ที่เพื่อนฝูงรุดหน้าไปหลายช่วงตัวแล้ว

"ราชการอาจจะบอกว่าดักดาน แต่ผมไม่อยากย้าย จริงๆ โดนย้ายไป 8 รอบแล้ว อยู่ที่นี่ มีอะไรให้ทำอีกเยอะแยะ ใครจะพูดยังไงเราไม่สนใจ เพราะสิ่งที่ทำมันดี ดีกว่าการไม่ทำ"

เดิมที่ นายวรวิทย์ในชุดเด็กมัธยมปลาย ใฝ่ฝันอยากจะเป็นวิศวกร แต่พ่อของเขากลับทำให้เปลี่ยนใจ อยากให้ลูกชายทำงานอะไรก็ได้ที่ "ให้" สังคม

ลูกชายพ่อค้าขายส่งจากโคราช จำคำพ่อมาเล่าต่อว่า จะทำงานอะไรก็ได้ แต่ห้ามไปข้องแวะกับการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ขายเหล้า ค้าบุหรี่ และอาบอบนวด ประกอบกับคนจีนถือเรื่องสุขภาพเป็นสำคัญ ลูกชายกลับมานั่งทบทวนก็หาข้อเสียหายไม่เจอ เลยลงเอยในอาชีพเภสัชกรในที่สุด

แต่นักศึกษาน้องใหม่ก็เพิ่งจะมาเข้าใจและเริ่มชอบอาชีพคนปรุงยาจริงๆ ก็เมื่อวันปฐมนิเทศ โดยได้คณบดีในตอนนั้น อาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร เป็นคนจุดไฟ

"ถ้าไม่มียา แต่ไม่มีหมอก็ไม่รู้จะรักษายังไง แล้วบางอาการถ้ามียา อาจไม่ต้องถึงคุณหมอก็ได้ ท่านย้ำอีกว่า เภสัชกรไทยต้องรู้เรื่องยาและทำเป็น คนบ้านนอกจะได้พึ่งตัวเองได้"

ประโยคไม่ยาวไม่สั้นแค่นั้นก็มากพอที่จะทำให้ วรวิทย์ตั้งใจไว้ตั้งแต่ปี 1 เลยว่า จบออกมาจะไปอยู่ต่างจังหวัดกับแฟนสาวร่วมคณะ ซึ่งก็คือภรรยาคนปัจจุบัน

เรื่องราวของเภสัชกรหนุ่ม(บ้านนอก)เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน เริ่มต้นครั้งแรกที่ จ.สุรินทร์ ในตำแหน่งเภสัชกรประจำสาธารณสุขคนเดียวของจังหวัด ต่างจากเพื่อนๆ ส่วนใหญ่ที่ไปรับจ้างโรงพยาบาลเอกชน หรือ บริษัทยาต่างๆ
นั่นจึงอาจเป็นที่มาของความหมายเภสัชกรแคบๆ แค่ จ่ายกับขายยา
หากจริงๆ แล้วขอบเขตของวิชาชีพนี้มีมากกว่านั้น อย่างน้อยๆ ก็ปรุงยา พัฒนาสูตร ดูแลการกิน-ซื้อ และความรู้เรื่องยาของประชาชน แล้วก็เอาตัวไปยุ่งกับเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่ยาด้วย
อย่างที่ ภก.วรวิทย์ทำนั่นเอง

บุ๋นเพื่อชาวบ้าน
ไปอยู่แรกๆ เภสัชกรหนุ่มเคยพลั้งพลาดจนเกือบโดนบาทา

"เกือบโดนกระทืบเลยครับ ตอนนั้นไปตรวจสถานที่ ไม่รู้ว่าเจ้าของเป็นโรคประสาท เราไปถึงเขาก็อาละวาด เตะประตู จะเข้ามาทำร้าย โชคดีที่เจ้าหน้าที่มาช่วยทัน ตรงนั้นมันเลยสอนให้เรารู้ว่าจะทำอะไร ต้องเข้าใจแบกกราวน์เสียก่อน" เสียฟอร์มระยะแรกๆ ของ เภสัชกรหนุ่ม
แต่ที่ยากที่สุดคือการทำงานกับคนในผ้าเหลือง และความศรัทธาของชาวบ้าน
"ที่วัดจัดสวดภาณยักษ์ มีการเอายาสมุนไพร ยาอื่นๆ มาขายอิเหละเขะขะ เราไปดูก็รู้ว่าไม่ใช่ยาปลอดภัย แต่ไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร วัดก็มีชื่อเสียง มีลูกศิษย์ลูกหาเยอะ เลยเข้าไปคุยกับผู้ว่าฯ อธิบายเรื่องยาว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ไม่อย่างนั้นท่านจะเดือดร้อน" แล้วเรื่องก็เรียบร้อยด้วยเทคนิคนิดๆ หน่อยๆของคนเจ้าความคิด

หากจุดเปลี่ยนและเข็มทิศการทำงานจริงๆ ของ ภก.วรวิทย์ คือ อาเจ็กร้านขายยาคนหนึ่ง

"ตอนไปตรวจร้าน เขาก็คุยไปเรื่อยๆ ว่า คนเราไม่ต้องกินยาทุกวันเนอะ จะกินก็เพราะป่วย แต่อาหารเนี่ย คนหนึ่งกินสามมื้อ กินทุกวัน ถ้ากินของไม่ดีก็ป่วย แต่ยากินตอนป่วย คนดีๆ เขาไม่กินกัน" เพียงเท่านั้น คนฟังก็ฉุกคิดและหันมาสนใจเรื่องอาหาร ไม่จำกัดแค่เรื่องหยูกยาอีกต่อไป

พร้อมๆ กันกับความก้าวหน้าในอาชีพที่สูงขึ้นตามลำดับ จากหัวหน้างานเภสัชสาธารณสุข หัวหน้าฝ่ายเภสัชสาธารณสุข จนมาถึงปัจจุบัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 อุบลราชธานี

ระหว่างนี้ก็มีงานปิดทองหลังพระไปหลายอย่าง

"ฟ้าทะลายโจร" ภก.วรวิทย์ได้แนวคิดนี้มาจาก ผศ.ภญ.สำลี ใจดี ที่บอกว่า อย่าไปหลงกระแสเอาสมุนไพรมาทำเครื่องสำอางค์ เครื่องสำอางค์ช่วยอะไรไม่ได้ในภาวะสงคราม แต่ถ้าทำยาจะทำให้ประเทศพึ่งตนเองได้

"เราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ แต่รู้ว่ามันเป็นยา และมีอยู่ในชุมชน เลยไปเชิญ อ.ทวีผล เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา ที่เก่งด้านสมุนไพร มาผลิตเป็นยาขึ้นมาได้ แล้วก็เอาไปกระจายต่อยังชุมชนและสถานพยาบาลต่างๆ " เขาย้ำหลักการอีกว่า "ที่สำคัญ ยาต้องไม่สร้างภาระเพิ่มให้แก่รพ. แต่ต้องช่วยประหยัดและเพิ่มประสิทธิภาพ"
ในหมวดเดียวกัน ยังมีชุมเห็ดเทศ , มะขามแขก ที่ได้เภสัชกรคนเดียวกันผลักดันให้รู้จักกันมากขึ้น

ผลงานเด่นๆ ลำดับต่อมาคือ จัดการน้ำดื่มปนสารตะกั่วตามโรงเรียน หม้อก๋วยเตี๋ยวที่ใช้ตะกั่วบัดกรี และ อันตรายของน้ำมันทอดซ้ำ ฯลฯ

"เริ่มต้นที่โรงเรียนบ้านดอนแดง จ.ร้อยเอ็ด ที่พบน้ำดื่มปนสารตะกั่ว เราก็ไปสำรวจตั้งแต่ต้นทางอย่างการประปาเลยนะ ก็ไม่มี ไปดูท่อส่ง ก็ไม่มีอีก แล้วก็ไปแกะตู้น้ำเย็นดู น้ำในนั้นก็ไม่มี แต่ปัญหามันอยู่ตรงก๊อก สืบสาวดูไปถึงช่างที่ซ่อม ก็พบว่าเขาใช้ตะกั่วบัดกรี" คำสั่งห้ามครอบคลุมไปทั่วประเทศ จึงออกตามมา รวมถึงหม้อก๋วยเตี๋ยวด้วย

หรือน้ำมันทอดซ้ำที่รู้กันเต็มอกว่าไม่ควรกิน ไม่ควรใช้ แต่ไม่เห็นมีใครลุกขึ้นมาเป็นตัวตั้งตัวตีสักที

ก็ได้เภสัชกรคนนี้อีกที่เดินเรื่อง...แบบละมุ่นละม่อม

"เราไม่ได้ไปสุ่มสี่สุ่มห้าขอแม่ค้าตรวจดื้อๆ แต่ใช้วิธีไปตรวจทุกสุดสัปดาห์หาค่าที่เป็นอันตราย ตรวจซ้ำหลายครั้งจนมั่นใจว่า น้ำมันซ้ำถ้าใช้ไม่ข้ามอาทิตย์จะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เราก็ค่อยๆ ไปบอกพ่อค้าแม่ค้าว่า ขอให้เปลี่ยนน้ำมันทุกอาทิตย์นะ เพื่อความปลอดภัย ก็ไม่มีปัญหา"

บู๊เพื่อบ้านเมือง
ทั้งหมดนั้นคืองานบุ๋น แต่งานบู๊ สุภาพบุรุษใจดีก็เลือดสาดไม่แพ้ใคร


"ตอนนั้น นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธานกรรมการสอบสวนกรณีทุจริตยา 1,400 ล้าน ท่านก็ตั้งผมเป็นกรรมการด้วย ต้องเท้าความให้ฟังก่อนว่า ด้วยความที่อยู่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไม่ได้ไปยุ่งเรื่องซื้อยา มีเพื่อนฝูงลูกน้องอยู่สาธารณสุขจังหวัดเยอะ เขาก็ชอบมาบ่นระบาย ว่าเขาอึดอัด เรื่องรายการสั่งยาแพงผิดปกติ ไม่อยากทำเลยแต่จะทำยังไงดี ผมฟังบ่อยมากและคิดว่ามันไม่ปกติ และพอรู้กระบวนการอยู่...

ปกติเวลาซื้อยาผ่านองค์การเภสัชกรรม ก็เหมือนซื้อผ่านรัฐวิสาหกิจ จะไม่ถูกเพ่งเล็ง แล้วสั่งได้เยอะ เป็นล้านๆ ก็ได้ พอเราได้ข้อมูลนี้เราก็ส่งให้คุณหมอวิชัย เลยต้องมีการตรวจสอบองค์การเภสัชกรรม"

ด้วยความที่อายุน้อยที่สุด ภก.วรวิทย์จึงต้องรับหน้าที่ธุรการ คอยตรวจสอบใบสั่งซื้อยากว่า 70,000 ใบ ทำด้วยมือไม่ไหวจนต้องเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาช่วยประมวลผล

"ตัวซอฟแวร์มันทำให้เราเห็นภาพว่า ยาตัวเดียวกันบริษัทเดียวกัน ทำไมราคาต่างกัน คนซื้อน้อยกับคนซื้อถูก คนซื้อมากกับคนซื้อแพง แล้วเป็นใบสั่งที่จังหวัดนี้มี จังหวัดนี้ก็มี จึงจับภาพได้ว่ามีจังหวัดไหนบ้างที่ทำ แล้วมันก็ขึ้นมาเลย 7-8 บริษัท บางบริษัทก็เพิ่งเปิดใหม่ พูดง่ายๆ ว่ายิ่งสาวยิ่งเจอ"

ขั้นตอนทั้งหมดนี้ใช้เวลาเพียง 5 เดือน ซึ่งก็มากพอที่จะบั่นทอนฝ่ายธุรการที่ทำงานหามรุ่งหามค่ำ เครียดถึงขนาดเลือดออกในกระเพาะ เพราะกลางวันคือเวลาของงานประจำ ส่วนกลางคืนต้องสวมบทบาทหน่วยปราบปรามทุจริต

นอกจากความภูมิใจ อีกผลพลอยได้จากการเปิดโปงครั้งนั้น คือ "ความเกลียด"

"โหย คนเกลียดเยอะ เกลียดไปทั้งเมืองเลย" เจ้าตัวยิ้มๆ "ทั้งข้าราชการ หมอ เภสัช คือเราไปขัดขา ขัดผลประโยชน์เขาไง"

ยกตัวอย่างง่ายๆ หลักสูตรผู้บริหารอันดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขที่ เภสัชกรคนนี้ถูกเขี่ยชื่อออกไป 2 ปีซ้อนด้วยกำลังภายในบางอย่าง

แต่เขาก็มีวิธีจัดการ...แบบนิ่มๆ

"บอกเขาเลยว่า ถ้าปีนี้เอาออกอีกเจอกันที่ศาลปกครองนะ เลยได้เรียน"

ตำแหน่งที่ควรจะทะยานไปมากกว่า ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ สาขาภูธร และน่าจะได้เข้าไปนั่งทำงานระดับนโยบายในส่วนกลางไปตั้งนาน แต่กลับอยู่กับที่มามากกว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งเขาก็ไม่ยี่หระ

"พอเรามาอยู่ในวงผู้บริหารเราก็ได้เห็น บางคนต้องเดินตามนักการเมืองเพื่อจะไต่เต้า เราไม่ชอบ" เราจึงได้เห็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นถูกสุขอนามัย อย่างน้ำปลาชุมชนพอเพียง ปลาส้มปลอดภัย หรือหน่อไม้ปีบปลอดเชื้อ และเชื่อว่านวัตกรรมชาวบ้านๆ จะยังไม่หยุดอยู่แค่นี้

................................................

ตั้งแต่ทำงานใหม่ๆ เภสัชกรบู๊บุ๋นคนนี้จะมีสมุดบันทึกติดตัวเสมอ คอยจดความฝัน ณ ช่วงนั้นๆ ว่าอยากทำอะไรบ้าง

"เด็กๆ ก็อยากให้ยาของเภสัชขายได้ รู้จักกันในวงกว้าง พอมาอยู่สาธารณสุขจังหวัด ก็อยากทำโครงการโน่นนี่ ถึงวันนี้แก่แล้วก็ยิ่งต้องเขียน เวลาเราไปไหน อยากทำอะไร ก็จด หรือนึกอะไรขึ้นมาได้ ก็เขียนๆ ไป อันไหนยังไม่แน่ใจก็ใช้ดินสอก่อน จะได้ลบได้(ยิ้ม) พอแน่ใจนั่นล่ะ ถึงค่อยลงปากกา"

จนถึงตอนนี้ สมุดบันทึกเล่มแรกถูกเก็บเข้าตู้ไปเรียบร้อยแล้ว ร่วมกับรุ่นน้องอีกกว่า 20 เล่ม ทุกเล่มได้รับการรักษาเป็นอย่างดี เผื่อไว้ไหนผู้เขียนอยากย้อนกลับไปดูเรื่องที่อยากจะทำแต่ยังไม่ได้ทำ ก็จะได้นำกลับมาจัดการให้ลุล่วง
"บางทีย้อนกลับไปอ่านก็ขำๆ เออ คิดได้ยังไง แต่เราก็รู้สึกว่า เออก็ดีนะ ที่เราได้ทำอะไรที่อยากทำ" เจ้าตัวบอกว่าเกือบทั้งหมด ทำสำเร็จไปแล้ว ด้วยอายุ สถานะที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

กับเจ้าของตำแหน่งเภสัชกรเพื่อสังคมคนแรกของเมืองไทย เจ้าตัวรีบโบกมือแล้วบอกว่า

http://www.bangkokbiznews.com/home/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ทักทาย แนะนำ ติชม แสดงความคิดเห็น